จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงการออกแบบและการสร้างมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปแล้ว วันนี้จะเป็นเรื่องของรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าคือรถที่อาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่เป็นตัวจ่ายไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์ บางคันก็อาจเป็นรถไฟฟ้าสมบูรณ์แบบเช่น นิสสันลีฟ หรือเชพโรเลทโวลท์ หรือบางคันก็เป็นรถไฟฟ้าไฮบริดจ์ แบบโตโยต้าพริอุส ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า รถไฟฟ้ามีข้อได้เปรียบในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำมาก ค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าน้ำมันมาก วิ่งเงียบ ไม่ปล่อยกาซพิษใดๆ ออกมากเลย แต่ก็ยังมีข้อเสียในด้านที่ยังต้องเผชิญกับรถติดและค่าแบตเตอร์รี่ประสิทธิภาพสูงที่ยังมีราคาสูง ส่วนประกอบของติดตั้งรถไฟฟ้าฟ้าก็เหมือนกับจักรยานไฟฟ้า การทำรถไฟฟ้าใช้เอง ไม่ใช่เรื่องยาก ลองอ่านบทความนี้ ท่านก็จะสามารถทำรถไฟฟ้าได้เช่นกัน
รถไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นรถกอล์ฟ รถไฮบริดจ์ จะมีส่วนประกอบสองส่วน ส่วนประกอบทางด้านเชิงกล และส่วนประกอบทางด้านเชิงไฟฟ้า ส่วนประกอบด้านเชิงกล จำเป็นต้องอาศัยโครงรถ ซึ่งอาจเป็นโครงตัวถังรถสำเร็จรูปหรือ อาจทำใหม่ขึ้นมาเลยก็ได้ และยังต้องมีชุดบังคับเลี้ยวและชุดเบรค ที่เชื่อถือได้ ดังนั้นการนำรถยนต์มาดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าจึงสะดวกกว่าการสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ส่วนประกอบด้านเชิงไฟฟ้าประกอบด้วย มอเตอร์ ชุดควบคุม เบรก คันเร่ง เป็นต้น